Sunday, March 18, 2007

เพลงความฝันอันสูงสุด


เนื้อเพลง

ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ
ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง
จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด
จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง
จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา
ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร
ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา
ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา
ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป
นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง
หมายผดุงยุติธรรม์อันสดใส
ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด
ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน
โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่
เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ
ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย

ประวัติ

เพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด”
เพลงนี้สืบเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์จะพระราชทานกำลังใจให้แก่บรรดาข้าราชการทหาร ตำรวจและพลเรือน มิให้ท้อถอยในการปฏิบัติหน้าที่ต่อชาติ บ้านเมือง จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เขียนคำกลอนเตือนใจแล้วพิมพ์แจกเหล่าข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพลเรือน ต่อมาทรงกราบบังคมทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานทำนองเพลง “ความฝันอันสูงสุด” จึงเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่มีการเขียนคำร้องก่อน แล้วทรงใส่ทำนองภายหลัง
เพลงนี้พระราชทานให้ ม.ล.อัศนี ปราโมช เรียบเรียง เป็นเพลงที่ ม.ล.อัศนี เรียกว่า Functional Music คือเนื้อเพลงมาก่อน แล้วเจาะจงเพื่อวัตถุประสงค์จำเพาะที่กำหนดไว้ แตกต่างจากยุคเดิมซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ทำนองจากแรงบันดาลพระราชหฤทัยโดยตรง

เพลงเราสู้



เนื้อเพลง

บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ
ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า
เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา
หน้าที่เรารักษาสืบไป
ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า
จะได้มีพสุธาอาศัย
อนาคตจะต้องมีประเทศไทย
มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย
ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น
จะสู้กันไม่หลบหนีหาย
สู้ตรงนี้สู่ที่นี่สู้จนตาย
ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู
บ้านเมืองเราเราต้องรักษา
อยากทำลายเชิญมาเราสู้
เกียรติศักดิ์ของเราเราเชิดชู
เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว

ประวัติความเป็นมา


เพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้”
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองจากคำร้องเป็นเพลงที่ 2 ต่อจากเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” และคำร้องนี้ คือ พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติและคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย ข้าราชการ พลเรือน ทหาร ตำรวจซึ่งได้จัดแข่งขันฟุตบอลการกุศล และเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ต่อมานายสมภพ จันทรประภา ได้ขอพระราชทานพระราชดำรัสนี้ มาประพันธ์เป็นกลอนถวาย และได้พระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่ แก่ทหาร อาสาสมัครและตำรวจชายแดน
ตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเสร็จใหม่ๆ ได้พระราชทานให้ ม.ล.อัศนี ปราโมช เรียบเรียงและโปรดเกล้าฯ ให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลงก่อน ภายหลังจากที่ วง อ.ส.วันศุกร์ได้เล่นเพลงนี้แล้ว ได้ทรงนำกลับไปแก้ไขและเรียบเรียงขึ้นใหม่ก่อนจะพระราชทานออกมาใหม่ เพลงรุ่นหลังๆ นี้มีพระราชประสงค์ให้นักดนตรีทุกคนมีส่วนเข้ามาช่วยกันแสดงความคิดเห็นปรับปรุงแก้ไขทำนอง มีพระราชดำรัสว่า การแต่งแบบนี้เรียกว่า “การแต่งแบบสหกรณ์”
เกร็ดการพระราชนิพนธ์เพลงนี้ นายแมนรัตน์เล่าว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นเสมือนนักประพันธ์เพลง หรือปราชญ์ของโลก คือทรงแต่งสดๆ เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยขึ้นมา เช่น เพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ทรงเขียนเส้นโน้ตห้าเส้น บนซองจดหมายแล้วทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงออกมาโดยฉับพลัน”

เพลงแว่ว


เนื้อเพลง

เพลงแว่วแผ่วกังวาน
หวานใดปานเพลงรักระรื่น
กลับคะนึงถึงวันคืน
เคยชิดชื่นอุรา
แสงนวลประกายฉาย
ผ่านฟ้าครามแลอร่ามตา
เปรียบดวงพักตร์ผ่องเพี้ยงจันทรา
นวลแสงแววตาประกาย
หวังประสบ
ฉันยังอยากพบเธอไม่วาย
รักมิหน่าย
รักเราสุดหมายแลสุดหวัง
ร้าวรอนเพลงสะท้อน
แต่สำเนียงเพียงแผ่วแผ่วดัง
โลกเรานี้ที่แท้ไม่มียืนยัง
แต่ความรักเราจีรังคงคู่ฟ้ายั่งยืน

ประวัติ

เพลงพระราชนิพนธ์ “แว่ว” “ECHO”
เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง ในชุดเดียวกันกับเพลงพระราชนิพนธ์ “Still on My Mind”, “Old Fashioned Melody”, “No Moon” และ “Dream Island” และโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ซึ่ง ศ.ดร.ประเสริฐ ประสงค์จะรักษาความหมายเดิมของเพลงพระราชนิพนธ์ “Echo” ไว้ จึงแต่งคำไทยจากคำร้องพระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษ แลใช้ชื่อภาษาไทยว่า “แว่ว” สำหรับการเรียบเรียงเสียงนั้น พระราชทานทำนองให้ ม.ล.อัศนี ปราโมช นำไปเรียบเรียง ซึ่ง ม.ล.อัศนี เล่าว่า “ตอนแรกที่พระราชทานเพลงนี้ (ยังไม่มีชื่อ) ลงมาให้ผมไปแยกเสียงประสาน ผมก็เอาสาระสำคัญของเพลงนี้มาพิจารณา เห็นว่าช่องโน้ตแรกเป็นคู่ 5 ก็เลยเอาคู่ 5 มาต่อๆกันเป็น introduction ซึ่งฟังแล้วได้ยินเหมือนเสียงสะท้อน จึงคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่ภายหลังเพลงพระราชนิพนธ์นี้จึงพระราชทานชื่อว่า “Echo”
เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ โปรดเกล้าฯ ให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในงานสังคีตมงคล เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2509

เพลงเกษตรศาสตร์


เนื้อเพลง
เขียวธงขจี
ก่อเกิดไมตรีสามัคคีมั่น
สถานเรียนเกษตรนั้น
เราผูกพันบูชา
เขียวนาป่าไพร
แผ่นดินถิ่นไทยไพบูลย์หนักหนา
เพราะไทยผลิตค้า
ทุกแหล่งฟ้าหล้าอิ่มเอม
แม้เหนื่อยกายใจสำราญ
เสร็จกิจการงานเกษตรเกษม
ล้วนปรีดิ์เปรมนำวิชา สร้างชาติสร้างตน
รวมแรงรวมใจ
จะจงรักจอมจักรินทร์
อีกแดนแผ่นดินทำกินเก็บผล
พระคุณเกษตรล้น
รักเปี่ยมท้นดวงจิตเอย
ประวัติความป็นมา

เพลงพระราชนิพนธ์ “เกษตรศาสตร์”
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อ 17 ธันวาคม 2507 และโปรดเกล้าฯ ให้ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้อง ซึ่ง ศ.ดร.ประเสริฐ ได้เล่าไว้ในเกร็ดการประพันธ์เนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ว่า
“เนื้อเพลงแรกของผู้เขียนคือ “ใกล้รุ่ง” ใช้เวลาแต่งเพียงชั่วโมงครึ่ง แต่เนื้อเพลงสุดท้ายคือ “เกษตรศาสตร์” นั้น เวลาผ่านไปเกือบปีหนึ่ง ยังไม่สามารถขึ้นต้นได้เพราะ
(1) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์
(2) เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
(3) เนื้อเพลง “มหาจุฬาลงกรณ์” ดีเยี่ยม
จนทำให้ผู้เขียนแหยงว่าไม่มีทางจะประพันธ์ให้ไพเราะใกล้เคียงกับเพลงนั้นได้ จนมีพระราชดำรัสถามถึง ทำให้ผู้เขียนต้องรีบประพันธ์ขึ้นมาจนได้”

เพลงเกาะในฝัน


เนื้อเพลง
ฉันสุดปลื้ม
ไม่ลืมเกาะงามที่เคยฝัน
หลงเพ้อคำมั่น
รำพันถึงความรักชื่นฉ่ำ
แสงจันทร์ผ่อง
ส่องเป็นประกายบนผืนน้ำ
เสียงสายลมพร่ำ
คร่ำครวญเหมือนมนตรา
หาดทรายขาว
หมู่ดาวพร่างพราวนภา
รูปเงาเพราพริ้งตา
ไยด่วนลาเลือนมลาย
ฝันสุดสิ้น
ไม่ยลไม่ยินน่าใจหาย
ฝันถึงไม่หน่าย
ไม่คลายร้างรักเธอ
ประวัติความเป็นมา

เพลงพระราชนิพนธ์ “เกาะในฝัน” “DREAM ISLAND”
เป็นเพลงที่สี่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง และโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ประพันธ์คำร้องภาษาไทย

เพลงไร้เดือน


เนื้อเพลง

ไร้เดือน
เหมือนดังฟ้าที่ไร้แสงส่อง
รักน้องนั้นหวานชื่น
รื่นรมย์ชมพักตร์แทนเดือน
งามดวงหน้าติดตราตรึงใจไซร้
ยิ้มรื่นใครจะมาเหมือน
ไร้เดือนเลือนไม่แลเห็น
ก็เป็นสุขใจไม่วาย

ไร้ดาว
มืดในหาวไม่เห็นแหนงหน่าย
สายรักแสนสูงส่ง
มั่นคงในดวงวิญญาณ์
ถึงใครอื่นชื่นชมเดือน
ฝันใฝ่ดาวบนฟ้า
แต่เราชิดหน้า
รสความรักไม่ร้างรา

ประวัติ

เพลงพระราชนิพนธ์ “ไร้จันทร์” “ไร้เดือน” “NO MOON”
เป็นเพลงที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองอีกเพลงหนึ่ง ซึ่งอยู่ในชุดเดียวกันกับเพลงพระราชนิพนธ์ “Still on My Mind” และเพลงพระราชนิพนธ์ “Old Fashioned Melody” ต่อมานายอาจินต์ ปัญจ์พรรค ได้ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ในชื่อเพลงว่า “ไร้จันทร์” ซึ่งนายอาจินต์ ปัญจ์พรรค เล่าว่า การแต่งเพลงนี้ใช้วิธีแปลจากคำร้องภาษาอังกฤษแบบคำต่อคำ โดยให้มีความหมายตรงกัน และให้เสียงวรรณยุกต์สอดคล้องกับท่วงทำนองของเพลงด้วย ส่วนท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และ ม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์ ได้ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ชื่อเพลงว่า “ไร้เดือน

เพลงเตือนใจ


เนื้อเพลง
เสียงเพลงเพราะเพลินพาเคลิ้มไป
ให้อาวรณ์หวั่นไหวแรงรักเธอ
คิดตรึงซึ้งไว้ใจละเมอ
รักเธอดั่งเพลงเตือน
เสียงเพลงนี้พาเราฝันไป
ก่อนเคยสุขสดใสในแสงเดือน
คิดตรึงซึ้งไว้ใจฝันเตือน
มิเลือนและลืมเธอ
ต่างเคยหยอกเย้าพะเน้าคลอ
ต่างคนต่างพ้อเพียงละเมอ
สบสุขความทุกข์คลายเพราะเธอ
ต่างปรนเปรอใจ
เสียงเพลงนี้พาเราภิรมย์
ต่างชมเชยชิดสองครองหัวใจ
เสียงเพลงนี้ซึ้งตรึงฤทัย
นึกไปใจชื่นเอย
ประวัติความเป็นมา

เพลงพระราชนิพนธ์ “เพลงเตือนใจ” “OLD FASHIONED MELODY”
เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องเป็นภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองเป็นเพลงที่สอง แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ซึ่ง ศ.ดร.ประเสริฐ ใช้วิธีแปลความหมายในลักษณะ “วรรคต่อวรรค” และตั้งชื่อเพลงว่า “เสียงเพลงดึกดำบรรพ์” ซึ่งไม่ต้องพระราชประสงค์ ภายหลังท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยชื่อ “เพลงเตือนใจ” ซึ่งท่านผู้หญิงเล่าว่า “เพลงนี้ท่านไม่ได้ โปรดเกล้าฯ ให้แต่ง แต่งเอง เสียงมันยาก ชวนคุณประพันธ์ (ม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์) แต่ง...”

เพลงในดวงใจนิรันดร์


เนื้อเพลง

อยากลืมลืมรักลืมมิลง
กลับพะวงหลงเพ้อเงา
เปรียบปานเพลิงรักรุมสุมเศร้า
เปลี่ยวเปล่าร้าวรอน
แต่เพียงกาลเวลาอันหมุนเวียน
ฤาอาจผลัดเปลี่ยนเบียนรักคลอน
รสรักจากกรสอดสวมกร
ยังถาวรติดเตือน

เมื่อยามอาทิตย์ลอยคล้อยต่ำ
ย่ำยามท้องฟ้าเลือน
ยังหวังเชยชิดกันฉันเพื่อน
ติดเตือนตรึงใจ
สุดประพันธ์บรรเลงให้ครบครัน
วันอาจจะผ่านเวียนผันไป
รักนั้นจะเนาแน่นแฟ้นใน
ดวงใจนิรันดร์

ประวัติ

เพลงพระราชนิพนธ์ “ในดวงใจนิรันดร์” “STILL ON MY MIND”
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่ส่งพระราชนิพนธ์คำร้องเป็นภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง เดิมทรงตั้งชื่อเพลงว่า “I Can’t Get You Out of My Mind” ต่อมาทรงเปลี่ยนเป็น “Still on My Mind” ส่วนคำร้องภาษาไทย โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์โดยแปลจากคำร้องภาษาอังกฤษในลักษณะวรรคต่อวรรค และรักษาความหมายเดิมของคำร้องภาษาอังกฤษซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ไว้ด้วย

เพลงแผ่นดินของเรา


เนื้อเพลง
ถึงอยู่แคว้นใด
ไม่สุขสำราญ
เหมือนอยู่บ้านเรา
ชื่นฉ่ำค่ำเช้าสุขทวี
ทรัพย์จากผืนดิน
สินจากนที
มีสิทธิ์เสรี
สันติครองเมือง
เรามีป่าไม้อยู่สมบูรณ์
ไร่นาสดใสใต้ฟ้าเรือง
โบราณสถานส่งนามประเทือง
เกียรติเมืองไทยขจรไปทั่วแดนไกล
รักชาติของเรา
ไว้เถิดผองไทย
ผืนแผ่นแหลมทอง
รวมพี่รวมน้องด้วยกัน
รักเกียรติรักวงศ์
เสริมส่งสัมพันธ์
ทูนเทิดเมืองไทยนั้น
ให้ยืนยง
ประวัติความเป็นมา

เพลงพระราชนิพนธ์ “แผ่นดินของเรา” “ALEXANDRA”
เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ในวันพระราชทานเลี้ยงเจ้าหญิง Alexandra แห่งเค้นท์ สหราชอาณาจักรอังกฤษ ซึ่งเสด็จฯ มาเยือนราชอาณาจักรไทย เป็นการส่วนพระองค์
พลเรือตรี ม.ล.อัศนี ปราโมช ได้เล่าถึงที่มาของเพลงนี้ว่า
“วันพระราชทานเลี้ยงเจ้าหญิง Alexandra ที่ศาลาผกาภิรมย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาก่อนเจ้าหญิงเสด็จฯ นิดหนึ่ง ทรงมีทำนองเพลงมายื่นให้คุณพ่อผม (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช) คุณเสนีย์ท่านก็เขียนเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษ หลังจากเสวยแล้วทรงดนตรีก็ได้เล่น... คุณแมนรัตน์ร้อง ตรงกลางท่านมาเสริมทีหลัง ตรงกลางที่ว่า “เรามีป่าไม้” เดิมยังไม่มี วันหลังจึงได้ทรงต่อ เพราะขาดตรงกลาง....”
คำร้องภาษาไทยคือ “แผ่นดินของเรา” เกิดขึ้นในระยะหลังเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเพลงปลุกใจให้รักชาติบ้านเมือง ทรงมีพระราชดำริว่าเพลงนี้น่าจะใส่คำร้องภาษาไทยได้ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานทำนองเพลงนี้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ประพันธ์คำร้องภาษาไทยเป็นเพลง “แผ่นดินของเรา” ซึ่งท่านผู้หญิงมณีรัตน์ เล่าว่า “...ท่านมีเพลง “Alexandra” แล้วท่านก็เสียดาย สมเด็จฯ โปรดเกล้าฯ ให้แต่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงดีดเปียโนให้ฟัง แล้วก็แต่ง ตรงนี้แต่งยาก...เรามีป่าไม้....”

Thursday, March 15, 2007

เพลงมาร์ชราชนาวิกโยธิน


เนื้อเพลง
รุกรันฟันฝ่าในธาราสีคราม
สมเป็นดังนามราชนาวีไทย
รบรันฟันฟาดไม่ขลาดหวั่นไหว
มีศึกมาใกล้ไม่หวั่นครั่นคร้ามริปู
เราราชนาวิกโยธินของไทย
เรารวมกายใจกันไว้เชิดชู
เป็นแนวปราการรุกทานรบผลาญต่อต้านพร้อมพรู
เข้าฟาดฟันรบรันศัตรูขอสู้ขาดใจ
เมื่อเราเข้าประจัญบานจะผลาญให้สิ้นไป
ยอมพลีชีพเพื่อชาติไทย
รีบรุกบุกเข้าตีไม่หนีสู้เพื่อชัย
กายใจชีวิตมอบเป็นราชพลี
เราราชนาวิกโยธินของไทย
ชีวิตมลายคงไว้ศักดิ์ศรี
วิญญาณยืนยงคู่ธงนาวี
ดำรงเสรีศัตรูหลีกลี้หนีไป
แม้ชีวาเราจำต้องสิ้นสูญลง
แหลมทองยังคงเป็นขวัญคู่ไทย
น.ย.เกรียงไกรไว้ลายแม้ตายชื่อไม่สูญไป
ปกป้องไทยทั้งกายและใจขอไทยอยู่คง
ประวัติ
เพลงพระราชนิพนธ์ “มาร์ชราชนาวิกโยธิน” (“ROYAL MARINES MARCH”)
โปรดเกล้าฯ พระราชทานกรมนาวิกโยธินเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2502 และได้โปรดเกล้าฯ ให้นำออกบรรเลงครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2502 ในโอกาสที่นาวิกโยธินอเมริกันประจำกองเรือที่ 7 ของสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือนประเทศไทย และได้ร่วมงานแข่งขันฟุตบอลกับราชนาวีไทย รวมทั้งได้จัดงานแสดงของทหารราชนาวีไทย – อเมริกันเพื่อหารายได้สมทบทุน “มหิดล” ด้วย ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าไทยยังไม่มีเพลงประจำกรมนาวิกโยธิน จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ขึ้นอย่างกะทันหัน ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานของ พล.ร.ต.สนอง นิสาลักษณ์ ผู้บังคับการกรมนาวิกโยธินขณะนั้น ซึ่งได้นำความปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นให้แก่เหล่านาวิกโยธินมาตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนคำร้อง ในตอนแรกมีผู้ร่วมประพันธ์ 2 คน คือ เรือเอกจตุรงค์ พันธุ์คงชื่น ร.น. (ปัจจุบันได้รับพระราชทานยศพลเรือโท) และเรือเอกสุมิตร ชื่นมนุษย์ ร.น. (ปัจจุบันได้รับพระราชยศพลเรือโท) ต่อมาคำร้องได้รับการแก้ไขขัดเกลา โดยผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน ได้แก่ ม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค พลเรือตรีจวบ หงสกุล พลเรือตรีปรีชา ดิษยนันท์ และนายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์
เพลงนี้วงดนตรี N.Q. Tonkunstler ได้อัญเชิญไปบรรเลง ณ Concert Hall กรุง Vienna เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2507 ด้วย

เพลงมโนราห์


เนื้อเพลง: ไม่มี
ประวัติ: ไม่มี

เพลงฝัน


เนื้อเพลง
ฝันไป
แห่งไหนไกลสุดจุดหมายมอง
ในห้วงฝันเรืองรอง
ด้วยภาพผองลำยองพร่างพราย
ฝันพลาง
ใจคว้างกลางโลกแห่งนิยาย
เรานี้หนอเดียวดาย
สุดจะหมายตายเคียงคู่ใคร
ชีพใช่ความฝัน
แต่ฉันยังฝันไป
สูแดนใดไหน
ซึ่งใครคนนั้นครอง
ฝันไป
จนไร้จนสิ้นสุดจุดหมายหมอง
คงจักสมใจปอง
ที่เรียกร้องรักคืนกลับมา (เที่ยวที่ ๑)
ที่เรียกร้อง รักชื่นคืนมา (เที่ยวที่ ๒)
คืนมาหารักรอท่า
ประสาแสนเศร้า


ประวัติความเป็นมา

เพลงพระราชนิพนธ์ “ฝัน” “เพลินภูพิงค์” “SOMEWHERE SOMEHOW”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “Somewhere Somehow” ขึ้นก่อน และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และนายศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ชื่อเพลงว่า “ฝัน” ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯแปรพระราชฐานประทับ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ใหม่ๆ โปรดในความสวยงามของพระตำหนักและอุทยานที่รายล้อม จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เขียนคำชมเป็นเพลง “เพลินภูพิงค์” อีกเพลงหนึ่ง ซึ่งท่านผู้หญิงมณีรัตน์ เล่าว่าเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้แต่ง ครั้งแรกยังไม่เคยตามเสด็จฯ ไปภูพิงคราชนิเวศน์ จึงไม่ได้แต่งทันที ต่อมาเมื่อมีโอกาสตามเสด็จฯ ภายหลังจึงได้เขียนคำร้องออกมาได้

เพลงเพลินภูพิงค์


เนื้อเพลง
สมใจก่อนนี้เคยอยากชมเขางาม
ตามหุบผาพงไพรได้มาเห็นภูพิงค์แพรวพราย
สวยจริงดอกไม้สะพรั่งบานทั้งปี
ดูหลากสีเรียงรายโชยกลิ่นหอมอวลอบชื่นใจ
ดุจจะลอยฟ้าดั่งทิพย์วิมานทอง
แห่งอินทร์พรหมสองเสกสนององค์ท้าวไท
แสนเพลินสุขสมสดับแต่เสียงเพลง
วิหคร้องมาไกลช่วยกล่อมขวัญทุกวันเพลิดเพลิน
สมใจก่อนนี้เคยอยากชมเขางาม
ยามอ่อนแสงรำไพได้ไปถึงดอยปุยเดียวดาย
สูงจริงเสียดฟ้าตระหง่านปานท้าลม
ชมยอดผาเรียงรายคราหมดแสงดวงสุริยา
ดุจจะลอยฟ้าอยู่ชิดเดือนเคียงดาว
โอ้ลมพัดหนาวรวดร้าวรานอุรา
แสนเพลินนั่งล้อมไฟอุ่นฟังเสียงเพลง
ชาวเผ่าเขาครวญมาสนุกเหลือไม่เบื่อภูพิงค์
สุขจริงหนามาเชียงใหม่แดนสรวงแสนเพลิน
ประวัติ
เพลงพระราชนิพนธ์ “ฝัน” “เพลินภูพิงค์” “SOMEWHERE SOMEHOW”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “Somewhere Somehow” ขึ้นก่อน และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และนายศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ชื่อเพลงว่า “ฝัน” ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯแปรพระราชฐานประทับ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ใหม่ๆ โปรดในความสวยงามของพระตำหนักและอุทยานที่รายล้อม จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เขียนคำชมเป็นเพลง “เพลินภูพิงค์” อีกเพลงหนึ่ง ซึ่งท่านผู้หญิงมณีรัตน์ เล่าว่าเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้แต่ง ครั้งแรกยังไม่เคยตามเสด็จฯ ไปภูพิงคราชนิเวศน์ จึงไม่ได้แต่งทันที ต่อมาเมื่อมีโอกาสตามเสด็จฯ ภายหลังจึงได้เขียนคำร้องออกมาได้

เพลงแสงเดือน


เนื้อเพลง
นวล
แสงนวลผ่องงามตา
แสงจันทรา
ส่องเรืองฟากฟ้าไกล
งาม
แสงงามผ่องอำไพ
ย้อมดวงใจ
ให้คงคลั่งไคล้เดือน
ชมแล้วชมเล่า
เฝ้าชะแง้แลดู
เพลินพิศเพลินอยู่
ไม่รู้ลืมเลือน
เดือน
แสงเดือนผ่องวันเพ็ญ
แสงจันทร์เพ็ญ
เด่นงามใดจะเหมือน
โฉมงามเทียบ
เปรียบเดือนแสงงาม
ประวัติ
เพลงพระราชนิพนธ์ “แสงเดือน” “MAGIC BEAMS”
เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเสด็จกลับฯ มาประทับในประเทศไทยเป็นการถาวรแล้ว โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประกอบการแสดงระบำบัลเล่ต์ซึ่งฝึกซ้อมโดยคุณหญิงเจเนเวียฟ เดมอน ในงานพระราชกุศล ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร

เพลงไกลกังวล


เนื้อเพลง

อยู่ไกลกังวลชนม์ชื่นฉ่ำ
หาดทรายแลน้ำนำไกลเศร้า
ไม่มีหาดไหนงามเทียมเท่า
คลื่นครวญคลอเคล้าวอนรักฝั่ง
ค่ำคืนไม่เหงาเราเริงสุข
ไม่มีความทุกข์ใดมาบัง
ได้ยินแต่เสียงดนตรียัง
สนุกกันทั้งยามค่ำคืน
รุ่งอรุณแล้วฟ้าเรืองเรื่อ
แต่ใจยังเหลือความเริงรื่น
สนุกจริงหนอคลอเสียงคลื่น
โต้ลมฉ่ำชื้นยามพลิ้วผ่าน
โน่นเดือนยังค้างฟ้าลอยเด่น
แต่เราไม่เว้นความสำราญ
แข่งกันคอยรับทิวาวาร
สนุกสนานกันเถิดเอย

เกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย
เกิดเป็นไทยแล้วใจต้องสู้
ถิ่นไทยเรารู้เรารักยิ่ง
ศัตรูหน้าไหนไม่เกรงกริ่ง
หากมาช่วงชิงตายเสียเถิด
เผ่าไทยเดิมล้วนคนใจเด็ด
แกร่งดังเหล็กเพชรชูชาติเชิด
ต่างรักษาไว้แดนกำเนิด
เกิดเป็นไทยแล้วจำใส่ใจ
ปกครองรักษาทำหน้าที่
ห่วงเมืองไทยนี้ให้ยิ่งใหญ่
สิ้นเมืองไทยแล้วใครอยู่ได้
ชาติไทยคงไร้ความเสรี
เผ่าไทยเราพร้อมอาสาสมัคร
เด็ดเดี่ยวยิ่งนักยอมพลีชีพ
เสี่ยงภัยทั้งผองปองความดี
ปกป้องปฐพีตายเพื่อไทย

ประวัติความเป็นมา


เพลงพระราชนิพนธ์ “ไกลกังวล” “เกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย” “WHEN”
เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเพลงประจำวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ โดยจะบรรเลงเป็นเพลงสุดท้ายทุกครั้งที่เลิกเล่นดนตรี ผู้ที่โปรดเกล้าฯ ให้ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ คือ อดีตสมาชิกวุฒิสภาของประเทศฟิลิปปินส์ Mr. Raul Manglapus ส่วนคำร้องภาษาไทยที่มีชื่อว่าเพลง “ไกลกังวล” นั้นผู้ประพันธ์คำร้องคือนายวิชัย โกกิละกนิฐ

เพลงสายลม


เนื้อเพลง

ท่ามกลางฟากฟ้ามัวหม่น
ลิ่วลมหลั่งฝนโปรยทั่ว
เยือกเย็นชีพเฉาเมามัว
จิตใจไหวหวาดกลัวหวั่นฟ้าคำรามลั่น
โรจน์เรืองแปลบแสงฟ้าผ่า
ล่องลมลิ่วมาเสียงสนั่น
โอ้ลมหนอลมพัดคืนวัน
โบกโบยเพียงไหนกันพัดจนไม่รู้วันสงบเอย

ต้องลมเหล่าไม้เอนลิ่ว
ลู่ใบลุ่ยพลิ้วปลิวว่อน
จิตใจอ่อนท้ออาทร
ด้วยลมพัดโบกวอนล่องหนวนเวียนไป
อย่าเป็นอย่างสายลมเล่า
เปลี่ยนแปลงซึมเซาเหลิงรักใหม่
โอ้ลมหนอลมพัดเลยไป
โลกเคยรู้ฉันใดแล้วคงสุขสมใจยิ่งเอย

ประวัติ

เพลงพระราชนิพนธ์ “สายลม” “I THINK OF YOU”
ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

Wednesday, March 14, 2007

เพลงค่ำแล้ว


เนื้อเพลง


วันคล้อยมา
ค่ำแล้วแก้วตาสุริยาเรืองรอน
นอนเสียนอน
จงอย่าอาวรณ์นอนเถิดนะดวงตา
ฟังเสียงเพลง
แว่วดังวังเวงเสียงครวญเครงนภา
จันทร์ฉายมา
พร่างพรายดาราดูงามฟ้าเพลินใจ
โชคนำหนุนบุญส่งมา
งามนักหนาพักตร์อำไพ
ประนมกรขอพรชัย
รัตนตรัยปวงเทวัญ
ดลบันดาล
แต่ความชื่นบานแสนสำราญนิรันดร์
อยู่ด้วยกัน
เป็นมิ่งเป็นขวัญอย่าห่างร้างแรมไกล
สุดรักเอย
ตื่นได้เชยชมดวงใจ
ประวัติ
เพลงพระราชนิพนธ์ “ค่ำแล้ว” “LULLABY”
เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อมีพระราชธิดาแล้ว โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษร่วมกับศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาไทย
เพลงนี้มีผู้เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แต่มีผู้นำรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเล่าว่า
“สมเด็จพระเทพฯรับสั่งว่า ที่จริงแล้วไม่ได้ทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานสมเด็จพระเทพฯ แต่ว่าเมื่อสมเด็จพระเทพฯ ทรงฟังเพลงนี้ทีไรทรงหลับทุกครั้ง ตอนนั้นท่านเพิ่งประสูติ ใครๆก็เลยคิดว่าเป็นเพลงสมเด็จพระเทพฯ”


เพลง Lay Kram Goes dixie


เนื้อเพลง: ไม่มี
ประวัติ
เพลงพระราชนิพนธ์ “LAY KRAM GOES DIXIE”
นับตั้งแต่เสด็จฯ นิวัตพระนครฯ ในพ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่มาร่วมเล่นดนตรีด้วยโดยรวมกันเป็นวง “ลายคราม” ในระยะแรกเล่น เพลงแนว Dixieland jazz ที่โปรด และต่อมาเมื่อทรงพระราชนิพนธ์เพลงในลีลาต่างๆ วงลายครามก็บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ออกอากาศทางสถานีวิทยุด้วย เพลง “Lay Kram Goes Dixie” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่ร่าเริงสนุกสนานแสดงพลังไดนามิกของแจ๊ส
Mr.Claude Bolling กล่าวถึงเพลงพระราชนิพนธ์ “Lay Kram Goes Dixie” ซึ่งอัญเชิญไปบรรเลงโดยวง Claude Bolling Big Band ในโครงการ “ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์” ว่า
“... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนิยมเพลงแจ๊สและทรงชำนาญทางด้านดนตรีแจ๊ส จึงทรงใฝ่พระทัยใน Dixieland Jazz ในการบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์นี้ ผู้เชี่ยวชาญการบรรเลงเพลง Dixie ของ Claude Bolling Big Band “สนุกสุดเหวี่ยง” กับจังหวะที่เริงร่าของเพลง”
เขากล่าวด้วยว่าเพลงแจ๊สเป็นภาษาสากล ซึ่งอาจเสริมสร้างความเข้าใจกันฉันพี่น้องของคนในประชาคมโลก ณ ที่ต่างๆ ดังเช่นเพลง พระราชนิพนธ์นี้ ซึ่งเป็นเพลง
...สไตล์อเมริกัน
...ประพันธ์โดยคนไทย
...สื่อออกไปโดยคนฝรั่งเศส


เพลง Can't You Ever See


เนื้อเพลง


Can't you ever see
That I love you eternally?
All my heart and my soul
From now forever will belong to you.

Can't you ever see
Lovingly your I'll always be?
All my thoughts and my dreams,
My whole life is just meant for you.

How can I make you see I love you alone?
I never could have you for my own
I love you, love only you,
Forever and ever I'm yours it's true.

Life is meaningless
I'd never find my happiness,
Without you I would die
Can't you see? I love only you

ประวัติ

เพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ ๒๒ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานรื่นเริง ประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนลุมพินี เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๘ เพลงพระราชนิพนธ์ นี้ไม่มีคำร้องภาษาไทย

เพลง Oh I Say



เนื้อเพลง


Oh let me say, just to say, What I'll say.

Or do you say, just to say, What you'll say.
Oh let us say, Just to say, What we'll say.
Now what'll we say? Just something to be gay,


To chase the trouble and the cares of the day away.
Let us all sing the song, we want to be happy today.

Happiness comes only once in a lifetime.

We do not know whence we come, where we go. So here goes.
Now let me say, just to say, What I'll say.

And do you say, just to say, What you'll sayLet us all sing the song, we want to be happy today.


ประวัติ

เพลงพระราชนิพนธ์ “OH I SAY”
เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ขณะแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นิสิตนักศึกษา ในระหว่างเสด็จฯ ทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสมัยก่อน

เพลงศุกร์สัญลักษณ์



เนื้อเพลง

ซีวิงลายคราม
ต้องไม่แสดงรุ่มร่าม
วิงลายคราม
ต้องไม่แสดงรุ่มร่าม
หนึ่งสองสามสี่
อ้าวไม่สี
หนึ่งสองสามสี่
อ้าวไม่เป่า
ซีวิงลายคราม
ชู่ ชู่ ชู่ ชู่

ดีดก็วันนี้ สีก็วันนี้ ตีก็วันนี้ ลายคราม
เป่าก็วันนี้ เมาก็วันนี้ เมาแต่ดนตรี ลายคราม
สุขก็วันนี้ สนุกก็วันนี้ ศุกร์สิ้นทุกข์ ลายคราม

ประวัติ

เพลงพระราชนิพนธ์ “ศุกร์สัญลักษณ์” “FRIDAY NIGHT RAG”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดนตรีส่วนพระองค์ทุกๆ วันศุกร์ และได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้เพื่อเป็นเพลงประจำวงของวงดนตรี “ลายคราม” (เช่นเดียวกับ เพลงพระราชนิพนธ์ “When” ซึ่งในปัจจุบันเป็นเพลงประจำวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์) และจะบรรเลงทุกครั้งที่ทรงดนตรี
ด้านคำร้อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็น “ลูกวง” ประจำวงดนตรีลายครามในขณะนั้น ประพันธ์คำร้องถวายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งคำร้องสะท้อนให้เห็นความสนุกสนาน และความเป็นกันเองของบรรยากาศในการทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ในยุคนั้น


เพลงลมหนาว


เนื้อเพลง
ยามลมหนาวพัดโบกโบยโชยชื่น
เหล่าสกุณร้องรื่นรมย์
หมู่ดอกไม้ชวนภมรร่อนชม
ช่างสมสุขเพลินตาน่าดูชูใจ
โอ้รักเจ้าเอ๋ย
ยามรักสมดน่าดูชูใจ
โอ้รักเจ้าเอ๋ย
ยามรักสมดังฤทัย
พิศดูสิ่งใด
ก็แลวิไลแจ่มใสครัน
อันความรักมักจะพาใจฝัน
เมื่อรักนั้นสุขสมจิตปอง
ยามลมฝนพัดโบกโบยกระหน่ำ
หยดหยาดนำน้ำหลั่งนอง
ผึ้งภู่ทั้งวิหคเหงาเศร้าหมอง
เกลื่อนกลาดผองมาลีร่วงโรยดิน
เหมือนรักผิดหวัง
เปรียบดังหัวใจพังภินท์
น้ำตาหลั่งริน
และลามไหลเพียงหยาดฝนปราย
อันความรักแม้นไม่เป็นดังหมาย
ตราบวันตายชีพขมขื่นเอย
ประวัติ
เพลงพระราชนิพนธ์ “ลมหนาว” “LOVE IN SPRING”
เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ภายหลังเสด็จฯนิวัตพระนครฯ เป็นการถาวรแล้ว โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลงนี้แก่สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษเพื่ออัญเชิญไปบรรเลงในงานประจำปี ทั้งนี้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาไทย เพลง “ลมหนาว” นี้นับว่าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเพลงหนึ่ง

เพลงเมื่อโสมส่อง


เนื้อเพลง
อ้าโสมทอแสงอำไพ
ฉันสุขใจหมายชม
เพลินหลงพร่ำเพ้อภิรมย์
โสมสาดส่องแสงมา
ภาคพื้นเวหาพราวพราย
เพราะก่องประกายดารา
เพียงเพชรพลอยส่องฟ้า
แวววับจับใจ
เมฆน้อยลอมโลมลูบหาว
เหมือนมืออันผ่องขาวละไม
ลูบโลมนภาสดใส
นั้นพาให้หทัยฉันสะเทือน
โอ้ลมเอ๋ยเชยพัดเตือนมา
มิให้อุราลืมเลือน
เพียงเสียงเธอรำพันเตือน
คำมั่นสัญญา
อ้าโสมชวนฉันคำนึง
ครั้งหนึ่งกลางแสงจันทร์
เราสองพลอดเพ้อรำพัน
รักมั่นไม่ผันแปร
ตราบฟ้าดินม้วยแลเรา
สองดับสลายดวงแด
วิญญาณไม่ห่างแห
ลอยรักร่วมทาง
ครั้นแล้วเวรกรรมชาติไหน
ระดมกันผลักไสเราห่าง
เมื่อรักยังไม่หม่นหมาง
รักยังสลักกลางดวงใจ
แต่ยังหวังในผลบุญนำ
ให้บาปกรรมแคล้ว
ไปคืนหนึ่งวันเพ็ญ
คืนพบความรักเดิมใน
ประวัติ
เพลงพระราชนิพนธ์ “เมื่อโสมส่อง” “I NEVER DREAM”
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลีลาวอลทซ์อีกเพลงหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ ต่อมาภายหลังจึงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาไทย

เพลงมาร์ชราชวัลลภ


เนื้อเพลง
เราทหารราชวัลลภ
รักษาองค์พระมหากษัตริย์สูงส่ง
ล้วนแต่องอาจแข็งแรง
เราทุกคนบูชากล้าหาญ
วินับเทิดเกียรติชาติไว้ทุกแห่ง
ใจดุจเหล็กเพชรแข็งแกร่งมิกลัวใคร
เราเป็นกองทหารประวัติการณ์
ก่อเกิดกำเนิดกองทัพบกชาติไทย
เราทุกคนภูมิใจ
ได้รับไว้วางพระราชหฤทัย
พิทักษ์สมเด็จเจ้าไทย
ตลอดในพระวงศ์จักรีฯ
เราทหารราชวัลลภ
รักษาองค์ฯ จะถวายสัตย์ซื่อตรง
องค์ราชาราชินี
ถ้าแม้นมีภัยพาลอวดหาญ
จะลุยเลือดสู้ตายจะเอากายป้องกัน ู
เป็นเกราะทองรบประจัญศัตร
ฝากฝีมือปรากฏ
เกียรติยศฟุ้งเฟื่อง
กระเดื่องกองทัพบกไทย
ไว้นามเชิดชูราชวัลลภคู่ปฐพี
ประวัติ
เพลงพระราชนิพนธ์ “มาร์ชราชวัลลภ”
เพลงพระราชนิพนธ์ “มาร์ชราชวัลลภ” เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อพ.ศ. 2496 และโปรดเกล้าฯ ให้พันตรีศรีโพธิ์ ทศนุต ประพันธ์คำร้อง และพระราชทานแก่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2496 เป็นเพลงทำนองปลุกใจ ให้รักชาติ ลักษณะเดียวกันกับที่พระราชทานแก่สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความ “รู้รักสามัคคี” ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น






เพลงยามค่ำ


เนื้อเพลง
ยามประกายแสงทองส่อง
งามเรืองผ่องนภา
ประเทืองผองมวลชีวา
ดังพรจากฟ้าเสกมาให้
ยามประกายแสงเดือนส่อง
ยามนวลผ่องฟ้า
ไกลชื่นชมสมดังดวงใจ
สบสุขสดใสหทัยบาน
ยามค่ำลงโพล้เพล้ถ่ายเทประภา
ในเมื่อยามทิวาต่อราตรีกาล
มีแต่ความมืดมนอับจนดวงมาน
เหงาปานขาดใจ
แท้ที่จริงนั้นยามค่ำ
นำให้รื่นฤทัย
ค่ำลงแล้วราตรีใหม่
เคลื่อนมาพาใจให้ชื้นชื่นเชย
ยามรุ่งแสงทิวางาม
เรืองอร่ามวิไล
โลกเริงสำราญปานใด
หมู่มวลพันธุ์ไม้ดอกใบบาน
ครั้นเมื่อยามแสงเดือนส่อง
ราตรีผ่องสำราญ
หมู่ดาววับวามงามตระการ
โลกเป็นสถานชื่นบานใจ
ยามค่ำลงสลัวมืดมัวแสงสี
แสนเปลี่ยวในฤดีสุดที่อาลัย
มีแต่ความมืดมนอับจนดวงใจ
คอยคืนใหม่งาม
แท้ที่จริงนั้นยามค่ำ
นำยามเนื่องถึงนาม
ค่ำลงแล้วราตรีตาม
โลกยิ่งสุดงามสมความชื่นชม
ประวัติ
เพลงพระราชนิพนธ์ “ยามค่ำ” “TWILIGHT”
โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ศาสตราจารย์ Ted Pease ผู้เรียบเรียงเสียงประสานแห่ง Berklee College of Music, Boston, Massachusettes ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ร่วมเรียบเรียงเพลงพระราชนิพนธ์ ในโครงการ “ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์” ของโรงเรียนจิตรลดา ได้กล่าวแสดงความชื่นชมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ diminished chords ในการเชื่อมทำนองเพลง “Twilight” ได้อย่างดีเยี่ยม

Monday, March 12, 2007

เพลงมาร์ชธงไชยเฉลิมพล



ประวัติ

เพลงพระราชนิพนธ์ “ธงไชยเฉลิมพล”
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่กองทัพไทยเมื่อพ.ศ. 2495 เพื่อใช้ในการเชิญธงไชยเฉลิมพลในพิธีการของกองทัพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ “ธงไชยเฉลิมพล” และ “มาร์ชราชวัลลภ” ออกจำหน่าย เพื่อการกุศลในพ.ศ. 2497 ด้วย

เพลงรักคืนเรือน


เนื้อเพลง

โอ้รักเอ๋ย
รักเคยชิดเชยชูชื่น
สุดหวานอมขมกลืน
สุดรักยืนยิ่งยง
เมื่อรักหวาน
รักปานดังลมบนส่ง
โบกพัดไปให้รักคง
ลิ่วพัดตรงทิศทาง
ครั้นมีบางอารมณ์
พาให้ขื่นขมรักเบาบาง
สายลมเวียนกลางทาง
รักกลับจืดจางห่างไป
โอ้ลมหวน
สายลมแปรปรวนไปได้
ใฝ่พัดมาฝ่าพัดไป
เปลี่ยนเหมือนใจคนเรา
โอ้ลมเอ๋ย
ประวัติ
เพลงพระราชนิพนธ์ “รักคืนเรือน” “LOVER OVER AGAIN”
โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ























เพลงพรปีใหม่



เนื้อเพลง

สวัสดีวันปีใหม่พา
ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีด์ชื่นชม
ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนข้าพรจากฟ้า
ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี
ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์
ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่
ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ
ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีด์
สวัสดีวันปีใหม่เทอญ

ประวัติ

เพลงพระราชนิพนธ์ “พรปีใหม่”
ในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ระหว่างพ.ศ. 2494 – 2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะพระราชทานพรปีใหม่ให้แก่พสกนิกรของพระองค์เป็นบทเพลง จึงพระราชทานเพลงที่ทรงแต่งร่วมกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งทรงแต่งไว้นานมาแล้ว ดังจะเห็นได้จากกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่คณะกรรมการโครงการ “ ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์” เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 มีใจความว่า
“...เพลง ‘พรปีใหม่’ คนก็ว่าแต่งในวันปีใหม่นั่นเอง หรือวันก่อนวันปีใหม่ แท้จริงแต่มานานแล้ว แต่งมานานก่อนที่จะออกปีใหม่เป็นปีหรือสองปี ตอนนั้นไม่สบาย คืออยู่ที่เมืองนอก ไปมีอุบัติเหตุ แล้วหมอก็บอกว่าห้ามเล่นแซ็กโซโฟน แต่ว่าท่านจักรพันธ์อยู่ด้วย เมื่อท่านอยู่ด้วยก็ให้ท่านเป่า ให้ท่านเป่าแซ็กโซโฟน ท่านก็เป่ามีเสียงออกมาได้ เมื่อท่านเป่าท่านก็ไม่รู้ว่านิ้วจะวางอย่างไร ลงท้ายก็เอานิ้วของเราใส่บนแซ็กโซโฟน แล้วท่านก็เป่า ก็เล่นได้ ลงท้ายท่านก็เรียงไปมา ท่าก็เล่นแซ็กโซโฟนได้ เมื่อเล่นแซ็กโซโฟนได้ และเมื่อหมออนุญาตให้เป่าแซ็กโซโฟน ก็เลยเริ่มเล่นเป็นเพลงที่แต่งเอาเอง คนหนึ่งเล่นส่วนหลัก แล้วอีกคนก็เล่นต่อ สลับกันไปอย่างนี้ แล้วจดเอาไว้ เมื่อจดเอาไว้แล้ว ก็นับว่าเป็นเพลงขึ้นมา มาถึงปลายปี ก็เลยนึกว่า เอ๊ะ...เราแต่งเพลงสำหรับให้พรปีใหม่ ก็แต่งเอาอันนี้ที่แต่งไว้แล้ว ซึ่งเป็นเพลงที่มีคนแต่งสองคน ไม่รู้ว่าเป็นเพลงก็มาปรับปรุงให้เป็นเพลงได้ และเมื่อจดเป็นเพลงแล้ว ก็ให้วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ไปออกในวันปีใหม่ ไม่ใช่ว่าเพลงนี้แต่งตั้งแต่วันนั้น แต่งมาก่อนแล้วก็แต่งแบบทุลักทุเลแบบนี้...”
เพลงพระราชนิพนธ์นี้ได้นำออกมาบรรเลงทางสถานีวิทยุ อ.ส. ในโอกาสต่อมา และเป็นที่นิยมบรรเลงในโอกาสปีใหม่เรื่อยมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน

เพลงยิ้มสู้



เนื้อเพลง

โลกจะสุขสบายนั่นเป็นได้หลายทาง
ต้องหลบสิ่งกีดขวางหนทางให้พ้นไป
จะสบความสุขสันต์สำคัญที่ใจ
สุขและทุกข์อย่างไรเพราะใจตนเอง
ฝ่าลู่ทางชีวิตต้องคิดเฝ้าย้อมใจ
โลกมืดมนเพียงใดหัวใจอย่าคร้ามเกรง
ตั้งหน้าชื่นเอาไว้ย้อมใจด้วยเพลง
ไยนึกกลัวหวาดเกรงยิ้มสู้
คนเป็นคนจะจนหรือมี
ร้ายหรือดีคงมีหวังอยู่
ยามปวงมารมาพาลลบหลู่
ยิ้มละไมใจสู้หมู่มวลเภทภัย
ใฝ่กระทำความดีให้มีจิตโสภา
สร้างแต่ความเมตตาหาความสุขสันต์ไป
จะสบความสุขสันต์สำคัญที่ใจ
เฝ้าแต่ยิ้มสู้ไปแล้วใจชื่นบาน

ประวัติความเป็นมา


เพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” “SMILES”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทรงเยี่ยมโรงเรียนสอนคนตาบอด ได้ทรงพระเมตตาพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงนี้ขึ้น เพื่อพระราชทานแก่โรงเรียนสอนคนตาบอด เพื่อเป็นการกล่อมเกลาจิตใจคนตาบอดให้เบิกบานยินดี โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ด้านคำร้องภาษาอังกฤษนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงดัดแปลงจากบทกลอนภาษาอังกฤษชื่อ Smiles ในหนังสือชื่อ Bed Time Story (ภายหลังเมื่อเวลาผ่านไปนาน ก็ทรงลืมนามผู้แต่ง และไม่สามารถค้นหนังสือดังกล่าวพบอีกเลย) บทกลอนนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ รับสั่งว่า นับเป็นเรื่องแปลกที่เมื่อนำมาประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ “Smiles” แล้ว สามารถร้องได้อย่างลงตัวพอดี
ต่อมาเมื่อคำร้องเสร็จเรียบร้อย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปพระราชทานแก่โรงเรียนสอนคนตาบอด และทรงแนะนำการร้องการบรรเลงให้ด้วย


Sunday, March 11, 2007

เพลงแก้วตาขวัญใจ



เนื้อเพลง

แก้วตาขวัญใจเธออยู่แห่งใดขวัญเอย
ขาดชู้คู่เชยรักเอยเดียวดาย
เฝ้าคอยรักเศร้าเหงาใจแสนหน่าย
เปลี่ยวปานชีวาวางวายคลายสุขตรม
โอ้เวรไหนมาพาโชคชะตาแสนชั่ว
โลกนี้มืดมัวหวาดกลัวระทม
ได้แต่หวังนั่งแต่ฝันคอยคู่ขวัญตันอกตรม
ร้อนอารมณ์หวังชมชิดเชยดวงใจ

อยู่เดียวเปล่าเปลี่ยวปานใดอกใจระทม
ขาดคนนิยมขาดคู่ชิดชมระบมทรวงใน
โอ้บุญไม่ช่วยนำพาแก้วตาขวัญใจ
ได้แต่ฝันไปไม่สบสมใจรักเอย
แก้วตาขวัญใจเธออยู่แห่งใดหนอเธอ
เฝ้าเพ้อเฝ้าละเมอใฝ่เธอมาเชย
สุดจะเหงาเฝ้าแต่ฝันทรวงกระสันพรั่นจิตเลย
ฝันถึงวันขวัญเอยชิดเชยชื่นชม

ประวัติ

เพลงพระราชนิพนธ์ “แก้วตาขวัญใจ” “ LOVELIGHT IN MY HEART”
โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

เพลงคำหวาน


เนื้อเพลง
ได้ยินเพลงหวานก้อง
ถ้อยทำนองร้องรำพัน
ฝากความรักไว้มั่น
ด้วยถ้อยอันอ่อนหวาน
เปรียบดังเพลงทิพย์มา
จากฟากฟ้าบันดาล
เสียงเพลงปานเพลงวิมาน
ประทานมากล่อม
เมื่อได้ยินเพลงเพราะดังว่า
ดั่งเทวาพาจิตโน้มน้อม
หรือมาลวงลองร้องเพลงกล่อม
จะประนอมให้ยอมปลงใจ
หากคำหวานขานเอ่ย
เพื่อเฉลยน้ำใจ
รักจริงใจขอฟังไป
ฟังให้ชื่นเชย
ชื่นอารมณ์สมปอง
แว่วเพลงร้องคมคำ
พลอดความรักเพ้อพร่ำ
ด้วยถ้อยคำงามสม
ถ้อยทำนองร้องส่ง
ก่อให้หลงลิ้นลม
เพลินเพลงชมย้อมอารมณ์
นิยมกลมกล่อม
เมื่อได้ยินเพลงเพราะดังว่า
ดั่งเทวาพาจิตโน้มน้อม
หรือมาลวงลองร้องเพลงกล่อม
จะประนอมให้ยอมปลงใจ
หากคำหวานขานเอ่ย
เพื่อเฉลยน้ำใจ
รักจริงใจขอฟังไป
ฟังให้ชื่นเชย
ประวัติความเป็นมา

เพลงพระราชนิพนธ์ “คำหวาน” “SWEET WORDS”
เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ ในระยะแรกที่เสด็จฯนิวัตพระนครฯ เมื่อ พ.ศ. 2493 แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

เพลงเทวาพาคู่ฝัน


เนื้อเพลง

ช่างงามทัศน์ทิวเขตคามงดงามน่าดู
ทั้งมวลล้วนมีเป็นคู่ชิดชูเชยชมรมย์รื่น
แต่ฉันดวงใจผูกพันใฝ่ฝันทุกคืน
เฝ้าปองเคียงครองคู่ชื่นให้รื่นเริงใจ
โลกนั้นดังเมืองสวรรค์เทวัญสร้างไว้
พิศดูเป็นคู่ทุกสิ่งล้วนมีรักจริงยิ่งใหญ่
อันธรรมชาติไซร้
ใช้แรงความรักความใคร่ย้อมชีวิตให้ยืนยง

อยู่เดียวเปลี่ยวใจหทัยใฝ่ฝัน
เดชกามเทพพันผูกใจให้หลง
แม้เคยทำคุณบุญส่ง
ฟ้าคงปรานีดีอยู่
โปรดจงประทานความเอ็นดู
ให้มียอดชู้เป็นคู่ชูใจ

จวบวันทิวาเฉิดฉันตะวันสดใส
ฟ้าดลบันดาลรักให้สมดังดวงใจมุ่งมั่น
เฝ้าวอนพระทรงเสกพรไหว้วอนทุกวัน
โศกทรวงดวงใจอัดอั้นตื้นตันอุรา
จวบวันราตรีเฉิดฉันดวงจันทร์แจ่มฟ้า
พบความรักดังใจมั่นเหมือนเดือนตะวันกลางหล้า
สมพรจากฟ้า
พระทรงประทานปวงข้าชีวิตในหล้ายืนยง

ประวัติ


เพลงพระราชนิพนธ์ “เทวาพาคู่ฝัน” “DREAM OF LOVE DREAM OF YOU”
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลีลาวอลทซ์อีกเพลงหนึ่ง ที่ทรงพระราชนิพนธ์ต่อจากเพลงพระราชนิพนธ์ “อาทิตย์อับแสง” และโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
จากบันทึกส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้แสดงถึงเจตนารมณ์ที่ทรงประพันธ์คำร้องเพลง “อาทิตย์อับแสง” และ “เทวาพาคู่ฝัน” ว่าในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มรู้จักชอบพอกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเมื่อครั้งยังทรงเป็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร อยู่นั้น ต่างประทับห่างไกลกัน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับตากอากาศอยู่ที่เมือง Davos ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประทับอยู่ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้องทรงจากกันก็เปรียบเหมือน “อาทิตย์อับแสง” และในพระราชหฤทัยของทั้งสองพระองค์ก็คงทรงหวังให้ “เทวาพาคู่ฝัน” มาให้ จึงทรงประพันธ์คำร้องเพลงทั้งสองนี้ถวาย

เพลงอาทิตร์อับแสง


เนื้อเพลง
เคยชม
ร่วมภิรมย์ใจ
ด้วยความรักจริงยิ่งใหญ่
ผูกพันหัวใจเรามั่น
รักเอย
เคยอยู่เคียงกัน
ร่มเย็นมิเว้นวายวัน
ด้วยความสัมพันธ์ยืนยง
ทิวางาม
ยามอยู่เคียงคง
สุริยาแสงส่ง
ปวงชีวิตในโลกดำรงเริงใจ
ร้างกัน
วันห่างไปไกล
มืดมนหมองมัวปานใด
เยือกเย็นเข็ญใจรัญจวน
ไกลกัน
พาพรั่นใจครวญ
ร่างกายทรุดโทรมทุกส่วน
จิตใจร้อนรวนแรงอ่อน
รักเอย
เลยกลับอาวรณ์
ค่ำคืนฝืนใจไปนอน
ยิ่งดูเหมือนฟอนไฟลน
ทิวาทรา
ยามห่างดวงกมลม
สุริยาหมองหม่น
ปวงชีวิตในโลกอับจนเสื่อมทราม
หวังคอย
คอยเฝ้าโมงยาม
จวบจนทิวาเรืองงาม
สบความรักยามคืนคง
ประวัติความเป็นมา

เพลงพระราชนิพนธ์ “อาทิตย์อับแสง” “BLUE DAY”
เป็นเพลงที่พระราชนิพนธ์ขณะเสด็จประทับแรมบนภูเขาในเมือง Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพลงพระราชนิพนธ์ “Blue Day” นี้ โปรดเกล้าฯพระราชทานให้ Michael Todd Production นำออกบรรเลงที่มหานครนิวยอร์คร่วมกับเพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” ด้วย

เพลงมหาจุฬาลงกรณ์



เนื้อเพลง

น้ำใจน้องพี่สีชมพู
ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา
พระคุณของแหล่งเรียนมา
จุฬาลงกรณ์
ขอทูนขอเทิดพระนามไท
พระคุณแนบไว้นิรันดร
ขอองค์พระเอื้ออาทร
หลั่งพรคุ้มครอง
นิสิตพร้อมหน้า
สัญญาประคอง
ความดีทุกอย่างต่างปอง
ผยองพระเกียรติเกริกไกร
ขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง
นิสิตประสงค์เป็นธงชัย
ถาวรยศอยู่คู่ไทย
เชิดชัยชโย

ประวัติความเป็นมา


เพลงพระราชนิพนธ์ “มหาจุฬาลงกรณ์”
เนื่องจากเพลงพระราชนิพนธ์ในระยะแรก ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่ทรงใช้ Scale แบบสิบสองเสียง (Chromatic Scale) ทรงใช้คอร์ดอย่างสลับซับซ้อนและพัฒนาออกไปไกลมาก ซึ่งทำให้เป็นเพลงที่จำยาก เมื่อทรงราบเช่นนี้ จึงมีพระราชปรารภว่า แม้แต่เพลงที่ใช้เสียงเพียง 5 เสียง (Pentatonic Scale) ก็สามารถแต่งให้ดีให้ไพเราะได้เช่นกัน จึงโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ เริ่มวรรคแรก โดยใช้ Scale 5 เสียงขึ้นก่อน จากนั้นจึงทรงต่อจนจบเพลง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2492 ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดย ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้ขอพระราชทานเพลงประจำมหาวิทยาลัยมา จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานทำนองเพลงแบบใช้ Pentatonic Scale คือ 5 เสียง ซึ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ก่อนแล้ว พระราชทานแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโปรดเกล้าฯให้ใส่คำร้องเอง ภายหลังท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา กับนายสุภร ผลชีวิน จึงได้ประพันธ์คำร้องขึ้นถวาย
เมื่อต้น พ.ศ. 2497 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นำทำนองเพลง “มหาจุฬาลงกรณ์” ในแนวสากลมาแต่งทำให้เป็นแนวไทยเดิม นายเทวาประสิทธิ์ รับพระราชทานลงมาทำและบรรเลงถวายด้วยวงปี่พาทย์ถึงสองครั้งด้วยกัน
ต่อมาเมื่อนายเทวาประสิทธิ์ไปสอนดนตรีไทยให้แก่ชมรมดนตรีของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้นำเพลงนี้มาปรับปรุงให้เป็นเพลงโหมโรง สำหรับใช้โหมโรงในการบรรเลงดนตรีไทยของชมรม

เพลงดวงใจกับความรัก



เนื้อเพลง

ค่ำคืนนภาดาราพราว
ประกายแสงดาวพราวตา
ดาษเรียงเคียงแสงดวงจันทรา ์
เพลินชมแสงพรายนภาเห็นดวงดาราล้อมจันทร
ที่จริงนั้นเดือนและดวงดาว
ต่างเรืองแสงวาวพราวพรรณ
ด้วยแรงจากแสงดวงตะวัน
จึงมีแสงเดือนงามครันแสงดาวประชันน่าชม
เปรียบดวงดาวและดวงเดือน
ก็เหมือนแม้นแววมโนรมย์
เปล่งแววไปเปลี่ยนใจชม
ด้วยจินตนาอารมณ์นานาประการ
แน่นอนแท้จริงคือดวงใจ
ส่องแววรักไปยืนนาน
เปรียบดังกับแสงตะวันตระการ
ยังคงแสงงามสะคราญแสงทองยืนนานเรื่อยมา

ตะวันฉายมาดาราราย
ส่องแสงพริ้มพรายนัยน์ตา
รื่นรมย์ชมแสงดวงจันทรา
ชมดาวล้อมเดือนงามตาพริ้มพรายนภาแสงงาม
มาตรแม้นสูญดวงตะวันไป
ประดาแสงในฟ้าทราม
ผู้คนสัตว์ไม้จะตายตาม
ตะวันสูญไปเป็นยามล้วนมีแต่ความมืดมน
เปรียบดวงดาวและดวงเดือน
ก็เหมือนแม้นแววมโนรมย์
เปล่งแววไปต่างใจคน
เปลี่ยนแปลงไปตามใจตนเวียนวนจนตาย
ตะวันนั้นเหมือนดังดวงใจ
หากสิ้นแสงไปรักคลาย
ขาดความรักเหมือนชีวาวาย
จะเป็นหรือตายทั้งใจและกายไม่วายโศกโทรม

ประวัติ


เพลงพระราชนิพนธ์ “ดวงใจกับความรัก” “NEVER MIND THE HUNGRY MEN’S BLUES”
เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ในช่วงระยะต้นรัชกาล ระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินศึกษาต่อ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และขณะที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงดนตรีกับวง “กระป๋อง” โดยโปรดเกล้าฯว่า ถ้าหากข้าราชบริพารหรือนักดนตรีสมัครเล่นผู้ใดไม่อาย ก็ให้เข้ามาร่วมบรรเลงได้
เพลงนี้เกิดขึ้นภายหลังเพลงพระราชนิพนธ์ “H.M. Blues” เนื่องจากมีผู้ข้องใจในความหมายของคำว่า H.M. จึงทรงไขปริศนาภายหลังเสวยพระกระยาหารในวันที่มีการทรงดนตรี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงประพันธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ศาสตราจารย์ Ted Pease ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประพันธ์เพลงแจ๊สแห่ง Barklee College of Music, Boston, Massachusetts ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ร่วมเรียบเรียงเพลงพระราชนิพนธ์ในโครงการ “ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์” ได้กล่าวถึงเพลงพระราชนิพนธ์ “Never Mind the Hungry Men’s Blues” ไว้ว่า เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในลักษณะ swing composition ที่น่าชื่นชม เข้าในลักษณะแจ๊สคลาสสิคของ Duke Ellington เช่น เพลง Don’t Get Around Much Anymore และ เพลง Let a Song Fo Out of My Heart เขาจึงเรียบเรียงเพลงนี้ด้วยความรื่นรมย์ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยถึงสไตล์เพลงแจ๊สอย่างลึกซึ้ง การเรียบเรียงของเขาจึงราบรื่นราวกับหลั่งไหลออกมาตามธรรมชาติ






เพลงชะตาชีวิต



เนื้อเพลง

นกน้อยคล้อยบินมาเดียวดาย
คิดคิดมิวายกังวลให้หม่นฤทัยหมอง
ขาดมวลมิตรไร้คนสนิทคู่เคียงครอง
หลงใหลหมายปองคนปรานี
ขาดเรือนแหล่งพักพำนักนอน
ขาดญาติบิดรและน้องพี่
บาปกรรมคงมี
จำทนระทม
ท้องฟ้าสายัณห์ตะวันเลือน
แสงลับนับวันจะเตือนให้ใจต้องขื่นขม
หากเย็นลงฟ้าคงยิ่งมืดยิ่งตรอมตรม ชีวิตระ
ชีวิตระทมเพราะรอมา
จวบจันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง
เฝ้ามองให้เดือนชุบวิญญาณ์
สักวันบุญมา
ชะตาคงดี

ประวัติความเป็นมา


เพลงพระราชนิพนธ์ “ชะตาชีวิต” “H.M. BLUES”
เป็นเพลงบลูส์ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขณะที่เสด็จฯ ทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์หลังเสวยราชสมบัติแล้ว เป็นเพลงที่มีทำนองเรียบง่าย อาศัยการดำเนินเสียงประสานของคอร์ดบลูส์ จำนวน 12 ห้อง เรียกว่า blues progession เป็นหลัก ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองแล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษโดยใช้ชื่อว่า “H.M. Blues” ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่าคงจะหมายถึง His Majesty’s Blues แต่แท้จริงหมายถึง Hungry Men’s Blues เพราะเหตุว่าในงานรื่นเริงที่ทรงเชิญข้าราชบริพาร นักเรียนไทย ไปร่วมงานเป็นการส่วนพระองค์นั้น ทรงบรรเลงเพลงเป็นเวลาครึ่งคืนโดยมิได้ทรงหยุดเพื่อเสวยพระกระยาหารเลย ในขณะที่ผู้ได้รับเชิญทุกคนได้รับพระราชทานอาหารอิ่มหนำสำราญ
คำร้องภาษาไทยซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ ศ.ดร.ประเสริฐ ประพันธ์นั้น ศ.ดร.ประเสริฐเล่าว่า ด้วยเหตุที่โน้ตเพลงและคำร้องภาษาอังกฤษอยุ่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คำร้องภาษาไทยจึงมีความหมายคนละแบบต่างกันไปอย่างมาก แต่ก็มีหลักให้เนื้อร้องเพลงบลูส์เป็นไปตามพระราชประสงค์ คือตอนท้ายต้องสะท้อนปรัชญาชีวิตที่ให้มีความหวังอยู่ด้วย
“เป็นเพลงบลูส์นี่ ก็ให้มันเป็นเพลงเศร้า แต่ว่าในตอนท้ายก็ต้องให้เป็นว่า ‘สักวันบุญมา ชะตาคงดี’ อะไรประเภทนี้ ให้ต้องกับพระราชประสงค์”
การประพันธ์คำร้องในตอนต้น ผู้ประพันธ์เข้าใจผิดว่าโน้ตครึ่งเสียงหรือเสียง Minor ควรจะแต่งเนื้อด้วยคำตาย เช่น “หากเย็นลงฟ้าคงยิ่งมืดยิ่งมัวมิด” แต่ภายหลังได้รับคำชี้แจงจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และทรงช่วยปรับปรุงแก้ไข คำร้องจึงไพเราะเพราะพริ้งขึ้น
เพลงพระราชนิพนธ์ “H.M. Blues” นี้เป็นเพลงหนึ่งที่ Carnegie Hall Jazz Band ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้อัญเชิญไปบรรเลงเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2538




เพลงใกล้รุ่ง



เนื้อเพลง

ได้ยินเสียงแว่วดังแผ่วมาแต่ไกลไกล
ชุ่มชื่นฤทัยหวานใดจะปาน
ฟังเสียงบรรเลงขับเพลงประสาน
จากทิพย์วิมานประทานกล่อมใจ
ใกล้ยามเมื่อแสงทองส่อง
ฉันคอยมองจ้องฟ้าเรืองรำไร
ลมโบกโบยมาหนาวใจ
รอช้าเพียงไรตะวันจะมา
เพลิดเพลินฤทัยฟังไก่ประสานเสียงกัน
ดอกมะลิวัลย์อวลกลิ่นระคนมณฑา
โอ้ในยามนี้เพลินหนักหนาแสงทองนวลผ่องนภา
แสนเพลินอุราสำราญ
หมู่มวลวิหคบินผกมาแต่รังนอน
เฝ้าเชยชิดช้อนลิ้มชมบัวบาน
ยินเสียงบรรเลงดังเพลงขับขาน
สอดคล้องกังวานซาบซ่านจับใจ

ประวัติ


เพลงพระราชนิพนธ์ “ใกล้รุ่ง” “NEAR DAWN”
เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ในขณะที่ทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช โดยพระราชทานทำนองให้ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ประเสริฐ ณ นคร อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำไปประพันธ์คำร้องภาษาไทย โดยมิได้ทรงกำหนดพระราชประสงค์ ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ประเสริฐ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าแรงบันดาลใจของเนื้อเพลงนี้ มาจากเสียงไก่ขันที่ได้ยินจากข้างบ้าน
“บ้านที่อยู่นั้น คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ท่านก็ต้องการจะส่งเสริมการเลี้ยงไก่ เพื่อให้ไก่ที่อยุ่ในกรงสามารถไข่ได้มาก แล้วก็ให้อาหารเต็มที่ ตื่นเช้ามาไก่ขันกันเต็มไปหมดเลย ก็ได้แรงบันดาลใจจากอันนั้น”
เพลงพระราชนิพนธ์ “ใกล้รุ่ง” เป็นเพลงที่ ศ.ดร.ประเสริฐกล่าวว่ามีเสียงไมเนอร์ครึ่งเสียง คือเสียง “แต่” ในวรรคที่มีคำร้องว่า “ได้ยินเสียงแว่วดังแผ่วมาแต่ไกลไกล” ซึ่งคนไทยยังไม่เคยชิน แต่ในที่สุดก็ยอมรับและเป็นที่นิยมในโอกาสต่อๆมา นอกจากนี้ ยังเป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำลูกล้อลูกรับของดนตรีไทยมาใส่ไว้ในทำนองด้วย
ศ.ดร.ประเสริฐเล่าว่าได้ใช้เวลาแต่งเนื้อร้องเพียง 1 ชั่วโมง แต่ด้วยความไม่ชำนาญในโน้ตสากล จึงแต่งในลักษณะ “จบเพลงวรรคหนึ่งก็ประพันธ์เนื้อไปวรรคหนึ่ง พอจบตอนที่สามไม่ทราบว่าที่มีจุด 2 จุดท้ายโน้ตเพลงหมายความว่าให้บรรเลงย้อนต้น และต้องแต่งท่อนที่สี่อีกจึงลงท้ายเพลงว่า “โอ้ในยามนี้ เพลินหนักหนาแสงทองนวลผ่องนภา แสนเพลินอุราเหลือลืม” เมื่อจบท่อนที่ 3 ต่อมาเมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงอธิบายให้ทราบว่าจะต้องแต่งท่อนที่ 4 เพิ่มเติมอีก จึงได้เพิ่ม “หมู่มวลวิหคบินผกมาแต่รังนอน เฝ้าเชยชิดช้อนลิ้มชมบัวบาน” ส่วนตอนที่ว่า “ฟังเสียงบรรเลง ดังเพลงขับขาน สอดคล้องกังวาน ซาบซ่านจับใจ” พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงกรุณาเพิ่มเติมให้”
เพลงพระราชนิพนธ์ “ใกล้รุ่ง” นี้ โปรดเกล้าฯ ให้นำออกบรรเลงครั้งแรกทางวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ สำหรับคำร้องภาษาอังกฤษ โปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ฯ แต่งขึ้นภายหลัง โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงช่วยแก้ไขให้ด้วย

เพลงยามเย็น



เนื้อเพลง

แดดรอนรอน
เมื่อทินกรจะลับเหลี่ยมเมฆา
ทอแสงเรืองอร่ามช่างงามตา
ในนภาสลับจับอัมพร
แดดรอนรอน
เมื่อทินกรจะลาโลกไปไกล
ยามนี้จำต้องพรากจากดวงใจ
ไกลแสนไกลสุดห่วงยอดดวงตา
แต่ก่อนเคยคลอเคลียกัน
ทุกวันคืนรื่นอุรา
ต้องอยู่เดียวเปลี่ยววิญญาณ์
เหมือนดังนภาไร้ทินกร
แดดรอนรอน
หากทินกรจะลาโลกไปไกล
ความรักเราคงอยู่คู่กันไป
ในหัวใจคงอยู่คู่เชยชม

แดดรอนรอน
หมู่มวลภมรบินลอยล่องตามลม
คลอเคล้าพฤกษาชาติชื่นเชยชม
ชมสมตามอารมณ์ล่องเลยไป
ลิ่วลมโชย
กลิ่นพรรณไม้โปรยโรยร่วงห่วงอาลัย
ยามสายัณห์พลันพรากจากดวงใจ
คอยแสงทองวันใหม่กลับคืนมา
แต่ก่อนเคยคลอเคลียกัน
ทุกวันคืนชื่นอุรา
ต้องอยู่เดียวเปลี่ยววิญญาณ์
เหมือนดังนภาไร้ทินกร
โอ้ยามเย็น
จวบยามนี้เป็นเวลาสุดอาวรณ์
ยามไร้ความสว่างห่างทินกร
ยามรักจำจะจรจากกันไป

ประวัติความเป็นมา


เพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” “LOVE AT SUNDOWN”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสกับคณะกรรมการของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อสมทบทุน “โครงการพัฒนาตามพระราชประสงค์” ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันพุธที่ 16 ธันวาคม 2524 ว่า
“เพลง ‘ยามเย็น’ เพลงที่สองนั้นนะ เป็นเพลงพี่ของเพลง ‘สายฝน’ แก่เดือนไป 1 เดือน เขาเกิดเดือนเมษายน (2489)”
ทรงพระราชนิพนธ์เพลง “ยามเย็น” ตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช และโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทย และศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ
เพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่พระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมป้องกันวัณโรค เป็นเพลงในจังหวะฟ็อกซ์ทร็อต เหมาะสำหรับการเต้นรำของคนไทยในสมัยนั้น จึงเป็นที่ประทับใจพสกนิกรมาก และกลายเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมทันที แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า
“เพลง ‘ยามเย็น’ นี้เป็นที่รู้จัก แต่ไม่โด่งดังเหมือน ‘สายฝน’ “

เพลงสายฝน



เนื้อเพลง

เมื่อลมฝนบนฟ้ามาลิ่ว
ต้นไม้พลิ้วลู่กิ่งใบ
เหมือนจะเอนรากคลอนถอนไป
แต่เหล่าไม้ยิ่งกลับงาม
พระพรหมท่านบันดาลให้ฝนหลั่ง
เพื่อประทังชีวิตมิทราม
น้ำทิพย์สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวงาม
ทั่วเขตคามชุ่มธารา

ทั่วเขตคามชุ่มธารา
แดดทอรุ้งอร่ามตา
รุ้งเลื่อมลายพร่างพรายนภา
ยามเมื่อฝนมาแต่ไกล
พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ
เพื่อจะนำดับความร้อนใจ
น้ำฝนหลั่งลงมาจากฟ้าแดนไกล
พืชพรรณไม้ชื่นยืนยง

ประวัติ


เพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” “FALLING RAIN”
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงที่ 3 ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2489 ขณะที่ยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้นำออกบรรเลงเป็นเพลงที่ 2 ต่อจากเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” ทั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ฯ ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ
เพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” นี้ เป็นเพลงจังหวะวอลทซ์ มีลีลานุ่มนวล และอาจกล่าวได้ว่า เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่พสกนิกรชื่นชอบมากที่สุดเพลงหนึ่ง
เมื่อวันพุธที่ 16 ธันวาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสกับคณะกรรมการของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยถึงที่มาของเพลง ซึ่งเป็น “ความลับ” ในการพระราชนิพนธ์เพลงนี้ว่า
“...คืนวันนั้นที่แต่งเพลงเพราะว่าเข้านอนแล้วฟังวิทยุ มันเกิดครึ้มใจ ก็ปิดวิทยุแล้วเอาเศษกระดาษมาขีดๆ แล้วก็จดไว้...แล้ววันรุ่งขึ้นก็ไปเคาะที่เปียโนซึ่งมีเปียโนหลังหนึ่งที่โปเก เสียงก๊องๆแก๊งๆ ไม่ได้เรื่อง แต่ก็เคาะไป แล้วก็เรียบเรียงไปสัก 2 ชั่วโมง ส่งไปให้ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ บอกว่าได้เพลงแล้ว... ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ ก็ส่งไปให้ครูเอื้อ ครูเอื้อก็เรียบเรียง วันรุ่งขึ้นออกสวนอัมพรแล้ว”
“ความลับของเพลง ‘สายฝน’ นั้นมีอยู่อย่างหนึ่ง คือ เขียนไป 4 ช่วง... ช่วงที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เสร็จแล้วเอาช่วงที่ 3 มาแลกกับช่วงที่ 2 กลับไปทำให้เพลงนี้มีลีลาต่างกันไป ก็รู้สึกว่าดี ทีแรกก็เป็น 1,2,3,4 มาตอนนี้ก็เลยกลายเป็นอยู่อย่างปัจจุบันนี้...”
จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะกรรมการโครงการ “ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์” ในพระบรมราชวโรกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 ทรงเล่าถึงความปีติยินดี ในฐานะของผู้ทรงพระราชนิพนธ์เพลง เมื่อทรงทราบว่าเพลงนั้นๆ เป็นที่นิยมชมชอบอย่างมากในหมู่ผู้ฟังว่า
“...ครั้งโน้น เสด็จในกรมชัยนาทฯ ท่านไปด้วยในงานของสมาคมเลี้ยงไก่ ท่านหันมาพยักหน้า บอกว่าดี เราก็ปลื้มใจ คือเพลง “สายฝน” เป็นที่พอพระทัยของเสด็จในกรมชัยนาทฯ ก็เลยทำให้ปลื้มใจ เพราะว่าเสด็จในกรมชัยนาทฯ นี้ท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นลุงองค์เดียวที่เหลือมาตอนหลัง และที่สนิทสนมเพราะเสด็จในกรมชัยนาทฯ ท่านเป็นลูกเลี้ยงของสมเด็จพระพันวัสสาฯ เมื่อท่านประสูติพระมารดาก็สิ้นไป สมเด็จพระพันวัสสาฯ ก็มาเลี้ยงตั้งแต่แบเบาะ สมเด็จพระพันวัสสาฯ ถือว่าเสด็จในกรมชัยนาทฯ นี้เป็นเหมือนลูกของท่านแท้ๆ จึงสนิทสนม และเมื่อไปที่ไหนท่านก็ไปด้วย ต่อมาท่านได้เป็นผู้สำเร็จราชการ ท่านนับว่ามีพระคุณอย่างยิ่ง แล้วก็ทราบว่า เสด็จในกรมชัยนาทฯ นี้ท่านโปรดดนตรี แต่ท่านไม่โปรดดนตรีอย่างที่เขียนหรือที่เล่น ท่านโปรดดนตรีคลาสสิค... ดนตรีพวกโอเปร่า เมื่อท่านหันมาพยักหน้าว่าดี ก็ปลื้มใจมาก พูดถึงเพลง ‘สายฝน’ นี้เป็นเพลงที่มีความภูมิใจมากเพราะว่าท่านหันมาพยักหน้าว่าดี”
นอกจากนั้น ก็คงทราบเรื่องที่ หม่อมเจ้าจักรพันธ์ คือพระองค์เจ้าจักรพันธ์ฯ ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านไปเชียงใหม่ ครั้งนั้นประมาณ 6 เดือน หลังจากที่เพลง ‘สายฝน’ ได้ออกมา ท่านเดินไปตามทาง เข้าไปในถนนเล็กๆ เป็นตรอก ท่านได้ยินคนผิวปากทำนองเพลง ‘สายฝน’ ท่านก็เดินเข้าไป ไปถึงเสียงของเพลงนั้นที่คนผิวปาก ปรากฏว่าเป็นชาวจีนที่กำลังซักผ้าอยู่และผิวปากเพลง ‘สายฝน’ อันนี้ท่านเล่าให้ฟังว่า เลยทำให้ปลื้มใจอีกอย่างหนึ่งว่าเพลง ‘สายฝน’ นี้ทุกคนชอบ แล้วก็จำทำนองได้ ก็หมายความว่าเป็นเพลงที่ใช้ได้ ต่อมา เมื่อกลับมาจากสวิสมาที่เมืองไทยนี่ มีงานที่วังสระปทุม เสด็จในกรมชัยนาทฯ ท่านก็อยู่ว่า วงดนตรีเล่นเพลง ‘สายฝน’ ท่านก็มาพูดอีกทีว่าเพลงนี้ไม่แพ้เพลงสรรเสริญพระบารมี คือไปที่ไหนก็มีเพลงนี้ ท่านก็รู้สึกปลื้มใจ เราก็ยิ่งปลื้มใจว่าท่านเห็นด้วย และเป็นเพลงที่ออกมาจากฝีมือของเราเอง ถือว่าเพลงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าทุกคน ผู้สำเร็จราชการก็โปรด ผู้ซักผ้าก็ชอบ ก็หมายความว่า เป็นชัยชนะอย่างสูงที่ได้ผลิตเพลงอย่างนี้...”
คำร้องภาษาไทยของเพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” มีจุดเริ่มมาจากหม่อมวิภา (วิภา เก่งระดมยิง อดีตหม่อมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ) โดยในขณะที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องในตำหนักที่ใกล้ประตูมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผอิญฝนเกิดตกลงมา หม่อมวิภาเดินไปปิดหน้าต่าง มองเห็นฝนกำลังตกจึงเดินกลับมา พร้อมด้วยคำอุทานจากแรงบันดาลใจว่า “สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวทุ่ง”
เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ วงดนตรี N.Q. Tonkunstler Orchestra ได้อัญเชิญไปบรรเลง ณ Concert Hall กรุง Vienna เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2507 และสถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลออสเตรียได้ส่งกระจายเสียงเพลงนี้พร้อมเสนอข่าวไปทั่วประเทศอีกด้วย

เพลงแสงเทียน


เนื้อเพลง
จุดเทียนบวงสรวงปวงเทพเจ้า
สวดมนต์ค่ำเช้าถึงคราวระทมทน
โอ้ชีวิตหนอล้วนรอความตายทุกคน
หลีกไปไม่พ้นทุกข์ทนอาทรร้อนใจ
ต่างคนเกิดแล้วตายไป
ชดใช้เวรกรรมจากจร
นิจจังสังขารนั้นไม่เที่ยงเสี่ยงบุญกรรม
ทุกคนเคยทำกรรมไว้ก่อน
เชิญปวงเทวดาข้าไหว้วอน
ขอพรคุ้มไปชีวิตหน้า
ทนทรมานมามากแล้วจะกราบลา
หนีปวงโรคาที่เบียดเบียน
แสงแววชีวาเปรียบแสงเทียน

เปรียบเทียนสิ้นแสงยามแรงลมเป่า
ชีพดับอับเฉาเหมือนเงาไร้ดวงเทียน
จุดเทียนถวายหมายบนบูชาร้องเรียน
โรคภัยเบียดเบียนแสงเทียนทานลมพัดโบย
โรครุมเร่าร้อนแรงโรย
หวนโหยอาวรณ์อ่อนใจ
ทำบุญทำทานกันไว้เถิดเกิดเป็นคน
ไว้เตรียมผจญชีวิตใหม่
เคยทำบุญทำคุณปางก่อนใด
ขอบุญคุ้มไปชีวิตหน้า
ทนทรมานมามากแล้วจะกราบลา
แสงเทียนบูชาจะดับพลัน
แสงเทียนบูชาดับลับไป
ประวัติความเป็นมา
เพลงพระราชนิพนธ์ “แสงเทียน” “CANDLELIGHT BLUES”
เป็นเพลงแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อเดือนเมษายน 2489 ขณะที่ทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระอนุชิราช เป็นเพลงในจังหวะบลูส์ และได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทย แต่เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะทรงแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าเดิม จึงยังไม่โปรดเกล้าฯ ให้นำออกบรรเลง ซึ่งศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ประเสริฐ ณ นคร เล่าว่า
“สมเด็จพระอนุชาฯ (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ) ตรัสว่า เพลง “แสงเทียน” นี่เศร้าเกินไปในตอนท้ายๆ คล้ายๆ ว่า ‘ทนทรมานมามากแล้วจะกราบลา’ ท่านจักรพันธ์ฯ ก็กราบบังคมทูลว่าเนื่องจากเป็นเพลงบลูส์ เพลงบลูส์ของอเมริกันนิโกรก็เศร้าๆ อย่างนี้ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ถึงแม้จะเศร้าก็จริง แต่ตอนท้ายของเพลงนั้นเขาต้องมีปรัชญาชีวิต ว่าจะต่อสู้ต่อไป ยังมีความหวังอยู่”
เพลงพระราชนิพนธ์ “แสงเทียน” ออกบรรเลงช้ากว่าเพลงที่สองและสาม คือ เพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” และ “สายฝน” ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้วงสุนทราภรณ์นำเพลงพระราชนิพนธ์ “แสงเทียน” ออกบรรเลง มีนายเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้ขับร้อง และในพ.ศ. 2496 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล ประพันธ์คำร้องเป็นภาษาอังกฤษ